ในโลกทุกวันนี้ที่การเข้าถึง Internet ควรเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ที่ไม่มีข้อจำกัด หรือมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเว็บไซต์ที่เรา Design และ Develop ออกมา การทำ Web Accessibility หรือการออกแบบ และพัฒนาเว็บไซต์เพื่อให้ ‘ทุกคน’ สามารถเข้าถึงได้นับว่าเป็นเส้นแบ่งระหว่าง ‘มืออาชีพ’ และ ‘มือสมัครเล่น’ เลยก็ว่าได้
Web Accessibility คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ
Web Accessibility หมายถึง การออกแบบเว็บไซต์ การทำเว็บไซต์ เพื่อคนที่มีข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะพิการหรือไม่พิการ โดยปกติแล้วคนที่ไม่พิการส่วนใหญ่จะสามารถรับรู้ เข้าใจ ใช้งานเมาส์ ตอบโต้ เข้าถึงเว็บไซต์ได้ง่ายดาย
แต่สำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านโสตประสาท, ด้านการรับรู้ , การวิเคราะห์, ทางประสาท, กายภาพ, คำพูด เสียง, ภาพและการมองเห็น คนเหล่านี้ไม่สามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างปกติ
ทำให้ผู้พัฒนาทุกคนจึงต้องเรียนรู้วิธีการเขียน HTML, CSS, JS และรวมไปถึงการออกแบบให้ถูกหลัก เพื่อให้คนทุกแบบสามารถใช้งานเว็บไซต์ เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นการทำ Web Accessibility ที่ถูกต้องคือเราจะต้องทำให้ คนทุกแบบ เข้าถึงเว็บไซต์ของเราได้นั่นเอง
Web accessibility ยังมีข้อดีสำหรับผู้ที่ไม่พิการด้วย
- ทุกคนสามารถเข้าใช้งานเว็บเราได้ แถมยังมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นอีก
- ช่วยเรื่องของ SEO (Search Engine Optimization)ได้มากขึ้น
- สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร เพื่อสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อคนทุกกลุ่ม
- ช่วยให้เว็บไซต์โหลดเร็วขึ้น
- เป็นการออกแบบตามหลักการของUniversal Design(UD)
เกณฑ์ความสำเร็จ ทางด้าน Web Accessibility
เกณฑ์การเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลในปัจจุบันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปหรืออัปเดตเรื่อยๆ ในขณะที่เทคโนโลยีดีขึ้นและการออกแบบเพิ่มความซับซ้อน เรายังคงต้องพัฒนามาตรฐานการเข้าถึงเว็บไซต์ให้ทันสมัยขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้ W3C จึงมีการอัปเดตข้อแนะนำเกี่ยวกับ WCAG อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เว็บไซต์มีความทันสมัย และสามารถใช้งานรวมถึงเข้าถึงได้อย่างปราศจากอุปสรรคเท่าเทียมกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ WCAG มีการอัปเดตข้อแนะนำเวอร์ชั่นล่าสุดคือ 2.1 และได้กำหนดเกณฑ์ในการวัดความสำเร็จของเว็บไซต์ไว้ 3 ระดับด้วย คือ A, AA และ AAA
จากหลักการของ WCAG จะเห็นได้ว่า Accessibility guidelines ไม่ใช่แค่ทางเลือกสำหรับคนที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย แต่เป็นสิ่งที่ควรมีในการออกแบบที่ดี เป็นประสบการณ์ใช้งานที่ดี (UX) และควรนำไปใช้ให้ได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะในทุกวันนี้ Web accessibility Standard ควรจะต้องเป็นสิ่งพื้นฐานที่อยู่ในดิจิทัลแพลตฟอร์มในทุกสภาวะ เช่น ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วต่ำที่ทำให้มีการแสดงผลบนเว็บไซต์ได้ช้า ผู้ที่มีข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆอยู่ในสภาวะฝนตก, แดดจ้า, ไฟดับ หรืออยู่ในพื้นที่เสียงดัง ผู้ที่ใช้งานบนอุปกรณ์อื่นๆไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ, Smart TV, Smart Watch เป็นต้น
การออกแบบเพื่อ Web Accessibility ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อสนับสนุนผู้ใช้ทุกประเภท แต่ยังเป็นการเสริมสร้างมูลค่าให้กับเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้ในยุคดิจิทัล